จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

บทความ : วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันของประเทศไทย ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กับ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มาจากการเมืองภาคประชาชน

“บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้” ย่อหน้าที่ ๑ มาตรา ๖๘ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๕๐

“บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” มาตรา ๗๐รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๕๐ข้อความข้างต้น ได้ถูกนำมาเป็นข้ออ้างของแต่ละฝ่ายเพื่อสร้างความชอบธรรมในการกระทำของตนเอง โดยถือหลักการเดียวกันตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่มีแนวคิดและวิธีการดำเนินการที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จนทำให้เป็นข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนที่ให้การสนับสนุนการกระทำ(Acts) ของทั้งสองฝ่าย จนขณะนี้ทำให้เกิดสภาวะในสังคมที่เรียกว่า “สภาวะแตกแยกทางความคิดในหมู่ประชาชน”

สภาวะแตกแยกทางความคิดในหมู่ประชาชนนั้น ได้ก่อร่างสร้างตัวมาอย่างเป็นระบบ โดยต้องย้อนกลับไปดูการเลือกตั้งในอดีต ครั้งที่พรรคไทยรักไทย ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน โดยได้จัดตั้งรัฐบาลเป็นเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียว เหตุที่พรรคไทยรักไทยนั้นได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนเป็นจำนวนมาก สืบเนื่องมาจากนโยบายประชานิยม ที่พรรคไทยรักไทยได้นำเอาแนวคิดของนักคิดแนวอรรถประโยชน์นิยม(Utilitarianism) มาประยุกต์ใช้ โดยที่ให้ประชาชนระดับรากหญ้า หรือประชาชนที่อยู่ในชนบท ได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินของนโยบายของรัฐบาลมากที่สุด โดยประชาชนที่อยู่ในชนบทได้เข้าถึงงบประมาณต่างๆ ที่รัฐได้จัดสรรให้ ซึ่งประชาชนระดับนี้ถึงว่าเป็นประชากรจำนวนมากอันดับหนึ่งของประเทศ

การเลือกตั้งครั้งนั้น จึงทำให้พรรคไทยรักไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ ซึ่งเป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนส่วนมากที่ได้ให้ความไว้วางใจในพรรคไทยรักไทย อีกทั้งยังเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ หรือที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งต้องการให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง รวมถึงความสามารถในการบริหารงานของรัฐบาล ผลพวงจากปรากฏการณ์ รัฐธรรมนูญปี ๔๐ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เรียกว่าดีที่สุดฉบับหนึ่งเท่าที่เคยมีมา ทำให้การบริหารงานของรัฐบาลภายใต้พรรคไทยรักไทยกลายมาเป็นคำพูดที่ติดปากในวงการเมืองว่าเป็นการบริหารงานแบบ เผด็จการรัฐสภา

การบริหารงานของรัฐบาลในครั้งนั้นได้รับการโจมตีอย่างมาก ไม่ว่าจะในด้านของการแทรกแซงองค์กรอิสระต่างๆ การออกกฎหมาย การละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการคุกคามสื่ออย่างรุนแรง ซึ่งเหตุต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกเพาะบ่มอยู่ในสังคมอย่างเป็นระบบ ประชาชนระดับกลางที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เริ่มเกิดความไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาล อีกทั้งยังเริ่มความไม่ไว้วางใจในการบริหารประเทศ ดูได้จากการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้าน-พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนแนวความคิดแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative) ได้รับคะแนนสูงสุดจากประชาชน โดยได้รับความวางใจให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของการต่อต้านอย่างเป็นระบบในหมู่ประชาชนระดับกลาง และถือได้ว่าเป็นก้าวแรกของการเกิดกลุ่มการเมืองภาคประชาชนที่เรียกตนเองว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น จนมาถึงการยุบสภาของพรรคไทยรักไทย และตลอดการเลือกตั้งที่ได้พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยอีกครั้งไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ไม่เอา ไทยรักไทยในหมู่ประชาชนระดับกลาง การลงคะแนนเลือกตั้งแบบใหม่(Vote no) การวินิจฉัยของศาลการเลือกตั้งปี ๒๕๔๘ เป็นโมฆะ การยุบพรรคไทยรักไทยในข้อหาทางการเมือง การปฏิวัติรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๔๘ การยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ และการเลือกตั้งหลังจากได้รับรัฐธรรมนูญใหม่

เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนอยู่ในความสนใจของประชาชนทุกระดับ ซึ่งได้เฝ้ามองดูว่าเหตุการณ์แต่ละอย่างที่ได้เกิดขึ้นนั้น จะมีจุดจบลงอย่างใด ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว กลุ่มขั้วอำนาจเดิมทางการเมืองก็ได้กลับเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศอีกครั้งเพียงแต่ครั้งนี้ ได้เปลี่ยนชื่อพรรคจากไทยรักไทยที่ถูกยุบเป็นพรรคพลังประชาชน และหัวหน้าที่พรรคคนใหม่จาก พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่โดนปฏิวัติจนต้องอาศัยอยู่ต่างประเทศเป็น นายสมัคร สุนทรเวช ทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตกลับมาเข้ารูปแบบเดิมอีกครั้ง ถ้าหากจะนำเหตุการณ์ต่างๆมาวิเคราะห์ให้ลึกไปในรายละเอียด ปัจจัยต่างๆ ที่เป็นตัวเร่งและเป็นตัวเสริม ก็เป็นปัจจัยเดิมๆ แต่ครั้งนี้มีปัจจัยที่เพิ่มเข้ามาเป็นพิเศษกว่าครั้งที่แล้ว คือ การเมืองภาคประชาชน หากจะนำเหตุการณ์ต่างๆมาวิเคราะห์ตามแนวทฤษฎีทางการเมือง มีทฤษฎีอยู่มากมายที่สามารถนำมาใช้ในการอธิบายหรือวิเคราะห์เหตุการณ์ทางการเมืองของไทยได้ แต่ที่ได้รับความนิยมและนำมาอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองได้อย่างเป็นระบบคือ ทฤษฎีระบบของเดวิด อีสตั้น และทฤษฏีโครงสร้างและหน้าที่ของทัลคอตต์ พาร์สัน

ทฤษฎีระบบของ เดวิด อีสตัน มีฐานคติที่สำคัญว่าการเมืองดำรงอยู่เป็นอย่างมีระบบเสมือนหนึ่งชีวิตการเมือง (Political Life) กล่าวคือ ระบบการเมือง ประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ ทั้งองค์ประกอบภายใน อันได้แก่ สถาบันการเมืองต่างๆ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายนอกที่มีอิทธิพลต่อการทำงานของระบบการเมือง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมทางการเมือง กับสภาพแวดล้อม มีลักษณะเป็นพลวัต (Dynamic system) มีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ก่อให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า “ชีวิตการเมือง” ความสัมพันธ์ระหว่างระบบการเมืองกับสภาพแวดล้อม จะเป็นไปในลักษณะที่สิ่งใดเกิดขึ้นภายในสภาพแวดล้อมจะส่งผลกระทบเข้าสู่ระบบการเมือง ในรูปแบบของปัจจัยนำเข้า (Inputs) ระบบการเมืองจะต้องทำหน้าที่ตัดสินใจและนำการตัดสินใจนั้นไปสู่การปฏิบัติผลผลิตของระบบการเมือง คือ ปัจจัยนำออก (Outputs) ซึ่งจะกลับเข้าสู่ระบบในรูปของปัจจัยสิ่งแวดล้อม หรือในบางกรณีอาจจะส่งกลับโดยตรงเข้าสู่ระบบการเมืองโดยไม่ต้องผ่านปัจจัยสิ่งแวดล้อม ปัจจัยสิ่งแวดล้อมจะนำเข้าสู่ระบบการเมืองในรูปแบบของความต้องการ (Demands) และการสนับสนุน (Supports) ความสัมพันธ์ระหว่างระบบการเมืองและปัจจัยสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แท้จริงแล้วปัจจัยนำออกก็คือผลผลิตของระบบการเมือง ดังนั้น ความสัมพันธ์เหล่านี้จะมีความต่อเนื่องโดยตลอด

โดยระบบการเมืองนั้น จะเป็นโครงสร้างศูนย์กลางของ ระบบหรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจ เพื่อจัดสรรค่านิยมให้แก่สังคม ส่วนการจัดสรรนั้นหมายถึงอำนาจในการตัดสินใจในการให้หรือไม่ให้ค่านิยมนั้นแก่สังคม ซึ่งระบบการเมืองนั้นจะประกอบไปด้วยสถาบันทางการเมืองต่างๆ เช่น สถาบันนิติบัญญัติ ตุลาการ และบริหาร พรรคการเมือง ระบบราชการ กลุ่มอิทธิพล และกลุ่มผลประโยชน์ เป็นต้น

ดังนั้นหากเราจะนำเอาปัจจัยต่างๆ ทางการเมืองของไทยที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์ตามแนวทฤษฎีนี้ พอที่จะทำให้เราสามารถพยากรณ์และอธิบายเหตุการณ์หรือพฤติกรรมทางการเมือง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเป็นระบบ โดยมีฐานคติ (Assumption) ที่ว่า พฤติกรรมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดจากการเดาสุ่ม หรือไม่มีแบบแผนของพฤติกรรม แต่สามารถที่จะหาลักษณะที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และสามารถสร้างเป็นกฎเกณฑ์ของพฤติกรรมได้

จากสถานการณ์ปัจจุบันความต้องการของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ พธม. ต้องการที่จะสลายขั้วการเมืองของกลุ่มพรรคพลังประชาชน หรือไทยรักไทยเดิมที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ โดยให้เหตุผลเดียวกันกับครั้งในอดีต คือ เป็นระบบการเมืองที่เลวร้ายตามแนวความคิดของตน จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ปัจจัยนำเข้าที่นำมาสนับสนุนจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญคือ การเผชิญหน้าระหว่างประชาชนที่ให้การสนับสนุนทั้งสองฝ่าย ระบบการเมืองไม่สามารถที่จะดำเนินไปภายใต้กระบวนการของระบบได้ ปัจจัยนำออกของระบบจึงไม่มี จึงทำให้ทหารต้องออกมาระงับเหตุการณ์ทางการเมืองก่อนที่จะทำให้ ประชาชนที่ให้การสนับสนุนทั้งสองฝ่ายต้องเผชิญหน้ากัน อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ในครั้งนี้ปัจจัยนำเข้ายังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการขั้นแรก คือ ความต้องการเดิมมีอยู่ แต่มีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเข้ามาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเมืองภาคประชาชนที่มีการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และที่สำคัญคือระบบการเมืองก็ยังดำเนินกระบวนการอยู่ได้ เพียงแต่มีบางส่วนเริ่มที่จะไม่ทำงานได้ด้วยตัวเอง เช่น ระบบตุลาการ กลุ่มพันธมิตรฯ เองก็ไม่ยอมรับฟังคำสั่งของศาล ไม่ว่าจะเป็นขัดขืนคำสั่งศาลในกรณีต่างๆ ระบบรัฐสภาเริ่มที่จะด้อยประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่สามารถที่จะสั่งการใดๆ ได้อย่างมีประสิทธิผล ตลอดจนกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ให้กับกลุ่มตนเอง โดยอาศัยเหตุการณ์ทางการเมืองเป็นเครื่องมือในการต่อรอง ซึ่งในช่วงนี้ปัจจัยนำออกที่เป็นองค์ใหญ่ของระบบยังไม่สามารถที่จะนำออกมาได้ เนื่องจากระบบการเมืองยังทำการตัดสินใจอยู่ แต่มีสิ่งเดียวที่จะเร่งให้ระบบการเมืองสร้างปัจจัยนำออกได้ ก็คือ ความสามารถของรัฐบาล ในการดำเนินการตามกฎหมายกับกลุ่มพันธมิตรฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับความร่วมมือจากระบบการเมืองอื่นๆ อย่างเต็มที่ แต่ตราบใดก็ตาม ถ้าระบบยังไม่สามารถควบคุมเวลาการทำงานของกระบวนการทางการเมือง หรือกระบวนการทางการเมืองหยุดชะงักลงด้วยเหตุผลใดก็ตาม เหตุการณ์ก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม คือ การเผชิญหน้าของฝ่ายสนับสนุนกลุ่มต่างๆ อีกครั้ง

ทฤษฎีโครงสร้างและหน้าที่ เป็นอีกหนึ่งทฤษฎีทางสังคมวิทยา ที่สามารถนำมาใช้ในการศึกษาและวิเคราะห์ทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแนวคิดนี้ ทัลคอตต์ พาร์สัน นักสังคมวิทยา ชาวอเมริกัน ได้ให้แนวคิดว่า ระบบสังคม หรือระบบการเมืองสามารถที่จะรักษาระบบของตนเองไว้ได้จะต้องทำหน้าที่สำคัญ สี่ประการคือ

หนึ่ง ดำเนินไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ ระบบจะต้องมีวัตถุประสงค์ เพราะวัตถุประสงค์มีความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดของระบบ สมาชิกของระบบจะอยู่ได้อย่างมีความสุข จะต้องมีการถ่ายทอดและควบคุมวัตถุประสงค์ให้สมาชิกได้รับรู้ และควบคุมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของระบบ จากเหตุการณ์ปัจจุบันระบบไม่สามารถที่จะควบคุมหรือถ่ายทอดให้สมาชิกในระบบรับรู้ถึงวัตถุประสงค์ของระบบได้แล้วนั้น ก็ไม่สามารถที่จะควบคุมสมาชิกในระบบได้ เนื่องจากปัจจุบันสมาชิกในระบบได้รับความรู้ใหม่เพิ่มเติมจากประสบการณ์ทางการเมืองด้วยตนเองอย่างมีระบบ มีการปลูกฝังแนวคิดจากผู้นำทางการเมืองภาคประชาชน จึงทำให้ระบบไม่สามารถควบคุมสมาชิกได้ตามที่ระบบต้องการ

สอง ระบบจะต้องมีการปรับตัว กล่าวคือการปรับตัวของระบบมีความสำคัญอย่างมาก ระบบจึงต้องหาวิธีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ของระบบได้ แต่ระบบการเมืองของไทยปัจจุบัน ไม่มีการการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของประชาชนที่มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดทางการเมือง จึงทำให้ระบบการเมืองไม่สามารถที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างที่ต้องการ

สาม ระบบจะต้องมีการบูรณการ คือจะต้องผสมผสานส่วนต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อระบบให้เกิดความเข้าใจอันดีภายในระบบ ช่วยให้การทำงานต่างๆ ของระบบเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายของระบบ อีกทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นในระบบ แต่ส่วนสำคัญในที่นี้ของระบบได้หายไป คือ สถาบันทางการเมืองต่างๆ ไม่สามารถที่จะมีประสิทธิภาพในการทำงานส่วนนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็น สถาบันทางการเมืองต่างๆ ที่ไม่สามารถจะทำงานร่วมกันได้ดีระหว่าง สส. กับ สว. ระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการประจำ จึงทำให้ระบบไม่สามารถที่จะผสมผสานส่วนเหล่านี้ได้ ระบบจึงเกิดข้อบกพร่องในตัวระบบเอง

สี่ ระบบจะต้องมีการจัดการกับความตึงเครียด ซึ่งเป็นธรรมดาของระบบที่เป็นสังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มคนจำนวนมาก จึงอาจทำให้เกิดการขัดแย้งกันได้ สถาบันที่มีความจำในการทำหน้าที่ส่วนนี้คือ สถาบันศาล และศาสนา ซึ่งจะต้องเป็นส่วนที่จะทำให้ความขัดแย้งนี้ให้หมดไป แต่ในระบบการเมืองขณะนี้ ระบบศาลเองก็ไม่ได้ถูกให้ความเคารพจากสมาชิกในระบบเท่าใดนัก ดูได้จากการที่ได้มีการละเมิดคำสั่งศาลอยู่ในเหตุการณ์ปัจจุบัน อีกทั้ง สถาบันทางศาสนาก็ไม่ได้ออกมาทำหน้าที่ในส่วนนี้แต่อย่างใด จึงทำให้หน้าที่ในส่วนนี้ของระบบมีความบกพร่อง ทั้งที่มีส่วนสำคัญและจำเป็นอย่างมากในเวลานี้

กล่าวโดยสรุป จากที่ได้มีการนำทฤษฎีของทั้งสองนักคิดมาวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีระบบของเดวิด อีสตั้น ที่สามารถวิเคราะห์และพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นประจำในพฤติกรรมทางการเมือง และทฤษฏีโครงสร้างและหน้าที่ของทัลคอตต์ พาร์สัน ซึ่งได้กล่าวถึงหน้าที่สำคัญของระบบว่าจะต้องมีการทำหน้าที่อย่างใด เพื่อที่จะทำให้ระบบนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ได้ เมื่อวิเคราะห์แล้วนั้น ทำให้ทราบได้ว่าเหตุการณ์ที่จะเป็นไปตามทฤษฎีระบบนั้น มีอยู่สองแนวทางคือ ถ้าทหารไม่ออกมาปฏิวัติอีกหนึ่งครั้งเพื่อยุติการเผชิญหน้าของกลุ่มสนับสนุนทั้งสองฝ่าย ก็จะเป็นการล่มสลายของการชุมนุมของผู้ประท้วง ซึ่งได้รับการสนับสนุนการทำงานจากสถาบันทางการเมืองที่มีอยู่ในระบบ ในส่วนของการนำทฤษฎีโครงสร้างและหน้าที่มาวิเคราะห์นั้น ก็เพื่อที่จะหาจุด บกพร่อง ของระบบ เพื่อทำการแก้ไขให้ระบบนั้นได้ทำหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากการวิเคราะห์จะเห็นว่า จะต้องให้ระบบที่ทำหน้าที่ให้การจัดการกับความตึงเครียด ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ศาลจะต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ได้วินิจฉัยออกมาแล้วนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดแห่งบริบทนั้นๆ เมื่อระบบนี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ระบบที่มีหน้าที่ในการบูรณการจะต้องทำหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจอันดีให้เกิดขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายของระบบคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันทางการเมือง เมื่อระบบทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยมทั้งสองระบบแล้ว ระบบต่อมาคือต้องทำการปรับตัว ค้นหาแนวคิดหรือแนวทางที่จะเสริมสร้างพลังต่างๆ ภายในระบบให้ดีขึ้น เพียงเท่านี้ระบบก็จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อความอยู่รอดของระบบได้ด้วยตัวของระบบเอง

หากระบบและโครงสร้างไม่สามารถทำงานได้ด้วยกระบวนการ และหน้าที่ของระบบเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความบกพร่องในระบบและหน้าที่จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งไม่อาจจะละเลยได้ว่าจะมีผลกระทบต่อระบบเหล่านั้นอย่างรุนแรง หากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่บรรเทาหรือยุติลง

ผลกระทบในด้านสังคมที่จะปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ความแตกแยกของประชาชนในสังคม ในการที่จะแบ่งข้าง แบ่งฝ่าย ชอบหรือไม่ชอบด้วยการแสดงออกที่รุนแรง ไม่ว่าจากหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ต่างๆ ที่ได้รายงานเหตุการณ์ทำร้ายร่างกาย จนถึงการเสียชีวิต เนื่องจากความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน อีกทั้งในด้านเศรษฐกิจซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญของระบบการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านเศรษฐกิจในประเทศ จากการนัดหยุดงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขนส่งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ ซึ่งผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้ได้สะท้อนไปเป็นปัญหาสำคัญทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทั้งในส่วนของภาคการนำเข้าและส่งออก ทำให้กระทบไปถึงความเชื่อมั่นต่อการลงทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ โดยจะเชื่อมโยงไปถึงความเชื่อมั่นทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นอีกอำนาจหนึ่งในการต่อรองทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การลงทุน หรือการให้ช่วยเหลือจากต่างประเทศ อีกทั้งยังกล่าวได้ว่า สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะขับเคลื่อนระบบของประเทศทั้งระบบให้พัฒนาเทียบเท่าอนารยประเทศต่างๆ ได้

บทสรุป ดังข้อความในสองย่อหน้าแรกนั้น พอที่จะทำให้เข้าใจได้ว่า ทั้งสองกลุ่มนั้นมีความเลื่อมใสและศรัทธา ในการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นประมุข เพียงแต่แนวคิด หรือวิธีการในการปฏิบัติของทั้งสองกลุ่มนั้นก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักการแห่งประชาธิปไตยเสียทีเดียว โดยกลุ่มฝ่ายพันธมิตรฯนั้นก็ไม่ได้ดำเนินการภายใต้กรอบแห่งหลักการประชาธิปไตยโดยยังอ้างเอาหลักเสียงส่วนน้อยที่ตนมีอยู่ ว่าเป็นความต้องการของคนทั้งประเทศ ฝ่ายรัฐบาลเองนั้นก็ละเลยเสียงส่วนน้อยว่าไม่มีความสำคัญ จนทำให้เกิดเหตุการณ์บานปลายไปจนถึงขั้นยึดสถานที่ราชการของกลุ่มพันธมิตรฯ ทำให้นานาชาติเกิดความหวั่นวิตกว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดทางการเมืองไทย ถ้าหากระบบและโครงสร้างยังไม่ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศก็ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน ทางออกของปัญหานี้ที่พอจะบรรเทาความรุนแรงลงได้ ให้ไปดูว่าระบบใดในสังคมขณะนี้ทำหน้าที่บกพร่อง หรือยังทำหน้าที่ของตนเองได้ไม่เต็มที่ ก็ให้เข้าไปทำหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ โดยการทำหน้าที่นั้นจะต้องคำนึงถึงบริบทที่เปลี่ยนไปทุกขณะ เพียงเท่านี้ระบบก็จะสามารถทำงานได้ด้วยตนเองและจะนำพาประเทศไทยและการเมืองไทยไปสู่เป้าหมายที่ดีได้ในอนาคต ดังคำของพระพุทธเจ้าที่มีอยู่ในสังยุตนิกายเล่าว่า “เรื่องที่ตรัสรู้และรู้นั้นมันมาก เท่ากับใบไม้ทั้งป่า แต่เรื่องจำเป็นที่ควรรู้ ควรนำมาสอนและนำมาปฏิบัตินั้นเท่ากับใบไม้กำมือเดียว”

1 ความคิดเห็น:

  1. ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้มันต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งดูได้จากเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมา เพราะระบอบการปกครองเดิม กับระบอบการปกครองแบบใหม่ที่กระแสโลกปัจจุบันผลักดันอยู่มันต่างกัน ความเรียบร้อยของบ้านเมืองไม่ได้อยู่ที่ว่าใครเป็นพวกใคร แต่มันขึ้นอยู่ที่ว่าใครเป็นผู้นำประชาธิปไตยที่ประเทศ และกระแสโลกต้องการต่างหาก หากใครไม่เข้าใจในกระแสนี้คุณก็เป็นผู้นำที่แท้จริงไม่ได้ ที่สำคัญอย่าดูถูกประชาชน ไม่ว่าชนบท หรือเมือง เพราะระบบนี้เป้าหมายคือความเท่าเทียม แบบหนึ่งเสียงหนึ่งคะแนน

    ตอบลบ