จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ปฏิรูปการเมืองคืออะไร ทำไมจึงต้องปฏิรูปการเมือง

คำว่า ปฏิรูปการเมือง หมายถึง การผ่าตัดปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดองค์กรทางการเมือง (และเศรษฐกิจส้งคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง) เพื่อทำให้การพัฒนาทางการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยชนิดที่ประชาชนสามารถเข้าไปมีบทบาทได้มากขึ้น เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ มีวุฒิภาวะในการที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆได้อย่างสันติวิธี การปฏิรูปการเมืองมีเป้าหมายที่จะทำให้โครงสร้างการจัดองค์กรทางการเมืองแบบใหม่ สามารถมีบทบาทในการพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ในระยะยาวได้มากกว่าที่แล้วมา ซึ่งเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยในระยะสั้นเท่านั้น


คำว่า “การเมือง” ควรเข้าใจในความหมายกว้างว่า หมายถึง การที่สมาชิกในสังคมต่อรองและตกลงกันในการหาวิธีการจัดการทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เพื่อให้สมาชิกในสังคมได้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ดังนั้น เรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ฯลฯ จึงเป็นเรื่องการเมืองในความหมายกว้างนี้ทั้งสิ้น การเมืองไม่ได้หมายถึงเฉพาะเรื่องการเลือกตั้งผู้แทนระดับต่างๆเท่านั้น

แต่คำว่า ปฏิรูปการเมือง ในทัศนะของนักการเมือง (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) หลายคนมักจะเข้าใจ หรือตั้งใจจะหมายความแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อปรับปรุงระบบการเลือกตั้งให้มีการแข่งขันกันซื้อเสียงน้อยลง และเป็นประโยชน์แก่พวกเขาในแง่ที่ว่าพวกเขาจะได้ไม่ต้องใช้เงิน ใช้ทองมากเกินไป และหรือจะได้ไม่ต้องพึ่งพา เป็นหนี้บุญคุณ ต้องเอาใจนักธุรกิจ นายทุนที่สนับสนุนพวกเขามากเกินไป

การแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปทางการเมืองในความหมายกว้างได้ แต่ไม่ได้แปลว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จแล้ว ก็ถือว่าการปฏิรูปการเมืองจบแล้ว เพราะการร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น คงจะทำได้ในขอบเขตจำกัด ต้องมีการประนีประนอม ประสานประโยชน์ในหมู่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎรกันมาก รัฐธรรมนูญจึงคงจะออกมาอย่างที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกต้องการ คือ แก้ไขในบางประเด็น แต่ไม่ได้ต่างไปจากเดิมมากนัก คือ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคนอย่างที่ประชาชนผู้มีการศึกษา มีความรู้ต้องการ

นอกจากนี้แล้ว เราต้องไม่ลืมรัฐธรรมนูญเป็นแค่ตัวบทกฎหมายที่คนที่มีอำนาจ (ทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจ) มีความรู้ มีการจัดตั้งองค์กรที่ดี สามารถใช้เป็นเครื่องมือให้เป็นประโยชน์แก่พวกตนได้มากกว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่มีอำนาจ ความรู้ การจัดตั้งองค์กรน้อยกว่า ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้โรคทุกอย่างได้ การปฏิรูปการเมืองที่แท้จริงจะต้องมุ่งปฏิรูปที่โครงสร้างทางอำนาจ โครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรมด้วย

สังคมไทยปัจจุบัน ต้องการการปฏิรูปการเมืองก็เพราะระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในปัจจุบันของไทย มีข้อบกพร่องเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยากจน การศึกษาและการรับรู้ข่าวสารต่ำ จึงมักนิยมเลือกคนที่เป็นผู้อุปถัมภ์ มีบุญคุณ คนรวยที่มีอำนาจบารมี คนที่พูดเก่ง หาเสียงเก่งเข้าไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าไปเป็นรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยหวังจะได้พวกเขาเป็นที่พึ่ง เพื่อแก้ปัญหาส่วนตัว หรือแก้ปัญหาในท้องถิ่นมากกว่ามุ่งเลือกคนที่ไปทำหน้าที่ออกกฏหมาย และบริหารประเทศ โดยที่เมื่อพวกนักหาเสียงเลือกตั้งเก่งเหล่านี้ได้รับเลือกเข้าไปแล้ว ประชาชนก็ไม่มีสิทธิในการควบคุมดูแลถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริงได้ ไม่มีสิทธิในการควบคุมดูแลตรวจสอบราชการบริหารประเทศอย่างซื้อสัตย์ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ได้ เพราะทั้งรัฐธรรมนูญ ตัวบทกฏหมาย โครงสร้างทางการเมือง การบริหารราชการไม่เปิดช่องให้ และประชาชนก็มีอำนาจต่อรองทางการเมืองน้อยกว่าพวกนักการเมืองและข้าราชการมากมายหลายเท่า

ระบบการเมืองและการบริหารปัจจุบันเป็นระบบที่มีข้อบกพร่องที่สร้างปัญหาความ ขัดแย้งและทำลายตัวเองในระยะยาว ระบบนี้ส่งเสริมให้การพัฒนาการเมืองและเศรษฐกิจผูกขาดอยู่ในมือคนกลุ่มน้อยท ี่ทำเพื่อประโยชน์ตัวเองและพรรคพวกมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่และเป็นกลุ่มคนที่ เล่นพรรคเล่นพวก ขาดความรู้ความสามารถ ขาดการมองการณ์ไกลในการบริหารประเทศ ทำให้การกระจายทรัพย์สินและรายได้มีความไม่เป็นธรรมมากขึ้น การพัฒนาเป็นไปอย่างไม่สมดุล ธรรมชาติแวดล้อมถูกทำลาย เกิดปัญหาทางสังคมมากขึ้น

แม้ในบางช่วงพวกเขาจะทำให้เศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศเจริญเติบโตในอัตราสูงได้ แต่เป็นการเติบโตแบบฟองสบู่ที่เกิดจากการลงทุนของต่างชาติ การส่งออกสินค้าที่ใช้ทุน วัตถุดิบจากต่างประเทศมากๆ การเก็งกำไรที่ดิน หุ้น การเติบโตของสินค้า และบริการที่ฟุ่มเฟือย แต่ประชาชนส่วนใหญ่กลับยิ่งเผชิญปัญหาค่าครองชีพสูง มีงานที่ให้ผลตอบแทนต่ำและไม่มั่นคงมีปัญหาด้านสุขภาพ (กายและใจ) และสภาพแวดล้อมเป็นพิษ ปัญหาอาชญากรรม ความเสื่อมโทรมทางสังคม ฯลฯ เพิ่มมากขึ้น ชนิดที่กำลังกลายเป็นวิกฤติการณ์ของสังคมไทยมากขึ้นทุกขณะและอาจจะนำไปสู่หายนะ ความล่มจมทางเศรษฐกิจ ความรุนแรงทางการเมืองและสังคมได้ หากไม่มีการปฏิรูปการเมืองในความหมายกว้าง คือ การปฏิรูปโครงสร้างของเศรษฐกิจ การเมืองสังคมไทยอย่างจริงจัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น